“หมอเจด” นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา โพสต์ข้อความระบุ
เคยสงสัยกันไหมว่า “อึทุกวันถึงจะสุขภาพดีจริงหรือเปล่า?” หรือถ้าวันไหนไม่ได้อึ แปลว่าระบบย่อยอาหารเรามีปัญหา? จริงๆ แล้ว เรื่องอึมันซับซ้อนกว่าที่คิดนะ วันนี้จะมาเล่าให้ฟังนะครับ ต้องอึวันละกี่ครั้งถึงจะปกติ อึแบบไหนเรียกว่าดี และถ้าอึผิดปกติควรทำยังไง
1. เราต้องอึทุกวันไหม?
อึมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสุขภาพดีเนาะ ใครไม่อึก็นอยละ คิดว่าตัวเองผิดปกติ บางคนอึทุกเช้าเหมือนเป็นกิจวัตร แต่บางคนสองวันอึที หรือบางทีสามวันกว่าจะมา อันไหนปกติ?
คำตอบคือเรา “ไม่จำเป็นต้องอึทุกวันนะ”
งานวิจัยบอกนะครับว่า ช่วงที่ถือว่าปกติคือ 3 ครั้งต่อวัน จนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จำง่ายๆคือ “สามสาม” ถ้าคุณอึทุกวัน แปลว่าร่างกายคุณอาจเผาผลาญเร็วและย่อยดี แต่ถ้าคุณอึวันเว้นวัน หรืออึแค่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็ยังถือว่าปกติ ถ้าไม่มีอาการท้องอืดหรือแน่นท้อง
แต่ต้องเริ่มกังวลเมื่อไหร่?
- ถ้าอึน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจเข้าข่าย “ท้องผูก”
- ถ้าอึบ่อยเกินวันละ 3 ครั้ง หรืออึเหลว อาจเข้าข่าย “ท้องเสีย”
2. อึแบบไหนถึงเรียกว่าขับถ่ายดี?
นอกจากดู “ความถี่” แล้ว ลักษณะของอึ ก็สำคัญ
จริงๆมันมีตาราง Bristol Stool Chart เอาไว้แบ่งประเภทอึออกเป็น 7 แบบนะ
- อึแข็งเป็นเม็ดเล็กๆ (Type 1) → ท้องผูกหนักมาก ร่างกายดูดน้ำจากอึมากไป
- อึแข็งเป็นก้อนยาว (Type 2) → ท้องผูกเล็กน้อย ควรกินไฟเบอร์เพิ่ม
- อึเป็นแท่งยาว มีรอยแตกเล็กๆ (Type 3) → ปกติ แต่ยังขาดความชุ่มชื้น
- อึเป็นแท่งเรียบ ลื่น (Type 4) → ปกติที่สุด! อึออกง่าย ไม่ต้องเบ่งเยอะ
- อึเป็นก้อนนิ่มๆ หลายชิ้น (Type 5) → เริ่มไปทางอ่อนนิ่ม กินไฟเบอร์เยอะเกินไป
- อึเป็นเนื้อเหลว (Type 6) → ท้องเสียเล็กน้อย ลำไส้เคลื่อนตัวเร็วเกินไป
- อึเป็นน้ำ ไม่มีเนื้อเลย (Type 7) → ท้องเสียหนัก อาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ
อึที่ “ดีที่สุด” ควรเป็น Type 3 หรือ 4 เพราะเป็นก้อนนุ่ม ขับถ่ายออกง่าย ไม่ต้องเบ่งเยอะ
3. อาหารส่งผลต่ออึยังไง?
อาหารที่เรากินมีผลโดยตรงกับลักษณะของอึ
- กินผักเยอะ ไฟเบอร์สูง → อึเป็นก้อนนิ่ม ขับถ่ายง่าย
- กินเนื้อเยอะ ไขมันเยอะ → อึอาจแข็งขึ้น หรือขับถ่ายน้อยลง
- กินของหวานเยอะ แอลกอฮอล์เยอะ → อึอาจเหลว หรือขับถ่ายบ่อยขึ้น
การกินส่งผลต่ออึเรามากนะครับ ดูอย่าง Carnivore Diet คือการกินแต่เนื้อสัตว์และไขมัน ไม่มีไฟเบอร์เลย เพราะฉะนั้น บางคนอึน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าท้องผูก เพราะร่างกายดูดซึมสารอาหารไปใช้หมด ทำให้มีของเสียออกมาน้อย บางคนอาจอึน้อยลงเหลือ 2-3 วันครั้ง และอึอาจแข็งขึ้นและมีกลิ่นแรง รวมไปถึงบางคนอาจมีท้องเสียในช่วงแรก เพราะร่างกายต้องปรับตัวกับการเผาผลาญไขมันสูง
ถ้ากิน Carnivore Diet แล้วรู้สึกสบายท้อง ไม่มีอาการอึดอัด ก็ถือว่าปกตินะครับ
4. ท้องผูก vs. ท้องเสีย แก้ยังไง?
แล้วถ้ารู้สึกว่าขับถ่ายผิดปกติ ลองแก้ไขตามนี้ได้เลย
ถ้าท้องผูก
- ดื่มน้ำเยอะขึ้น (วันละ 2-3 ลิตร)
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์ (ผัก ผลไม้ ธัญพืช)
- ออกกำลังกาย เช่น เดินหลังอาหาร
- กินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์หรือกินเป็นอาหารเสริมก็ได้
ถ้าท้องเสีย
- หลีกเลี่ยงอาหารมันจัด นม หรือของเผ็ด
- ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนน้ำที่เสียไป
- กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ต้มจืด
- ถ้าอาการรุนแรงเกิน 48 ชั่วโมง ควรพบรีบหาหมอ
5. สรุปง่ายๆ เราไม่จำเป็นต้องอึทุกวันนะครับ
ถ้าอึไม่บ่อยแต่ไม่มีอาการแน่นท้อง หรือท้องเสียแต่ไม่รุนแรง ก็ไม่ต้องเครียดนะครับ สำคัญคือขับถ่ายแล้วรู้สึกดี ก็พอแล้ว อีกอย่างที่อยากฝากทุกคนคือ สังเกตอึตัวเองด้วยนะ มันก็เป็นสัญญาณบอกโรค อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยครับ
